ในยุคแห่งงานสัมนา และพัฒนาตนเอง อย่างบ้าคลั่ง แต่หารู้ไม่ว่า ความสำเร็จภายนอก มิอาจทดแทนความล้มเหลวในบ้านได้ หลายครอบครัวทะเลาะกันเพราะเอาเรื่องงานมาคุย คนหนึ่งมีปัญหาที่ทำงาน เอามาเล่าให้อีกคนฟัง อีกคนฟังและให้ความเห็นตอบ เกิดขัดแย้งกัน ทำไปทำไม คุณมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน แต่กลับมาบ่น มาเก่งที่บ้าน นู้น ไปเก่งที่ทำงาน ฝ่ายคนฟังเองก็ควรเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่จำเป็นต้องโต้ตอบหรือให้ความเห็นใด แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ บางทีการเงียบฟัง ก็ถูกตีความว่าไม่สนใจเสียอีก
เมื่อกล่าวถึงเศรษฐี คนทั่วไปหมายถึงคนมีทรัพย์ คำว่าเศรษฐี ที่แท้หมายเอาคนมีทั้งเงินและเป็นคนใจบุญใจกุศล แบ่งบันความสุขเอื้อเฟื้อผู้อนาถา เป็นตำแหน่งที่พระราชาแต่งตั้ง ส่วนคนมีเงินอย่างเดียว เขาเรียกว่า กุฎุมภี หรือ นายทุน
มาดูว่า เศรษฐีอินเดีย สอนลูกอย่างไร จึงได้ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ขอยกตัวอย่างสักท่านหนึ่งพอเป็นสังเขป ดังนี้ ธนัญชัยเศรษฐี ลูกของเมณฑกเศรษฐีชาวเมืองมคธ แต่ย้ายไปอยู่เมืองสาเกต แคว้นโกศล ตามคำขอของพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ จึงแบ่งให้แต่เพียงชั้นลูกเศรษฐีโยกย้ายไปอยู่แคว้นโกศลแทน
ธนัญชัยเศรษฐี เป็นบิดาของนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ผู้บำรุงพระพุทธศาสนา ไม่น้อยไปกว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่สร้างวัดเชตวัน เมื่อลูกสาวแต่งงานกับ ปุณณวัฒนกุมาร บุตรชาย มิคารเศรษฐี ชาวเมืองสาวัตถี ครั้นพิธีการเสร็จสิ้นแล้วจะต้องส่งเจ้าสาวไปบ้านสามี
ธนัญชัยเศรษฐีจึงเรียกนางวิสาขา ให้เข้ามานั่งใกล้ๆ แล้วได้ให้โอวาทสั่งสอน มีท่านมิคารเศรษฐี พ่อสามีนั่งอยู่ฟังอยู่ภายในห้องด้วย ดังนี้
“ลูกเอ๋ย ธรรมดาว่าสตรีจะอยู่ในสกุลสามี ควรจะศึกษามารยาทอย่างนี้ ไฟในก็ไม่พึงนำออก ไฟนอกก็ไม่พึงนำเข้า พึงให้แก่ผู้ที่ให้ ไม่พึงให้แก่ผู้ที่ไม่ให้ พึงให้ทั้งแก่ผู้ที่ให้ ทั้งแก่ผู้ที่ไม่ให้ พึงนั่งเป็นสุข พึงบริโภคเป็นสุข พึงนอนเป็นสุข พึงบำเรอไฟ พึงนอบน้อมเทวดาภายใน”
โอวาทของท่านธนัญชัยเศรษฐีนี้ ถือว่าเป็นข้อวัตรปฏิบัติที่ดีสำหรับสตรีทั่วไปที่แต่งงานออกเรือนใช้ชีวิตเป็นแม่ศรีเรือน มี 10 ข้อ ขยายความ ดังนี้
๑.ไฟในอย่านำออก หมายถึงไม่ควรนำความลับหรือเรื่องไม่ดีงามภายในครอบครัว ไปบอกเล่าให้คนภายนอกได้รับรู้
๒.ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึงไม่ควรนำคำนินทาว่าร้ายเสียดสีด้วยความอิจฉาริษยา จากบุคคลภายนอกมาสู่ครอบครัว อันจะเป็นเหตุให้เกิดเรื่องไม่ดีงามและความบาดหมาง
๓.พึงให้แก่คนที่ให้ หมายถึงคนที่เคยเกื้อหนุนเอื้อเฟื้อควรมีน้ำใจไมตรีตอบแทน เมื่อมีผู้มาหยิบยืมข้าวของเงินทอง ควรให้แก่คนที่นำมาคืนเท่านั้น
๔.พึงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายถึงคนที่ไม่เคยเกื้อหนุนเอื้อเฟื้อมีน้ำใจก็ไม่ควรทำใจกว้างหรือทำหน้าใหญ่ใจโต ผู้ที่เคยหยิบยืมแล้วไม่นำมาคืน คราวต่อไปหากยังกล้ามาหยิบยืมอีก ไม่ควรให้
๕.พึงให้แก่คนที่ให้และไม่ให้ หมายถึงการสงเคราะห์ญาติและมิตรสหาย แม้เขาจะนำมาคืนหรือไม่ก็ตาม เมื่อเห็นว่าเป็นการสมควร หรือเขาเป็นคนดีควรแก่การเกื้อหนุนอนุเคราะห์ก็ควรให ้
๖.พึงนั่งให้เป็นสุข การนั่งในที่อันเหมาะอันควร ไม่เกะกะขวางทาง ไม่ต้องคอยลุกหลีกเมื่อพ่อสามีแม่สามีหรือผู้ใหญ่เดินผ่าน และนั่งเมื่อจัดการงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
๗.พึงนอนให้เป็นสุข หมายถึงควรนอนทีหลังพ่อสามีแม่สามี และสามีได้เข้านอนแล้ว คือต้องตรวจดูข้าวของกลอนประตูหน้าต่างและฟืนไฟให้เป็นที่เรียบร้อย ทั้งจัดแจงข้าวของที่จำเป็นสำหรับหุงหาหรือใช้สอยในวันรุ่งขึ้นให้พร้อมมูลครบครัน จึงจะถือได้ว่าเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี
๘.พึงกินให้เป็นสุข หมายถึงควรจัดข้าวปลาอาหารสำหรับพ่อสามีแม่สามีรวมทั้งสามีและบุตรให้เป็นที่เรียบร้อย
๙.พึงบูชาไฟ หมายถึงการให้ความเคารพยำเกรงสามีและบิดามารดาของสามีตลอดจนญาติผู้ใหญ่
๑๐.พึงบูชาเทวดา หมายถึงให้นับถือบิดามารดาสามีและบรรพบุรุษ
หน้าที่ของสามีที่มีต่อภรรยา
1. ให้การยกย่องภรรยาของตน
2. ไม่ดูหมิ่นภรรยา
3. ไม่ประพฤตินอกใจภรรยา
4. มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้
5. ให้เครื่องประดับตามสมควร
หน้าที่ของภรรยาที่มีต่อสามี
1. จัดการงานดี
2. สงเคราะห์คนข้างเคียงสามี
3. ไม่ประพฤตินอกใจ
4. รักษาทรัพย์สมบัติที่สามีหามาได้
5. ขยันไม่เกียจคร้านกิจการงานทั้งปวง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น